สาระน่ารู้ » ย้อนมรดกธรรม ชมคัมภีร์ใบลานสมบูรณ์มากที่สุดในไทย ที่ “วัดสูงเม่น” จ.แพร่

ย้อนมรดกธรรม ชมคัมภีร์ใบลานสมบูรณ์มากที่สุดในไทย ที่ “วัดสูงเม่น” จ.แพร่

1 ธันวาคม 2017
433   0

“แพร่” เป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาหลายร้อยปี มีวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญอยู่หลายแห่ง และหนึ่งในวัดสำคัญนี้นั่นคือ “วัดสูงเม่น” ตั้งอยู่ใน ตำบลสูงเม่น ถนนยันตรกิจโกศล ห่างจากตัวเมืองแพร่ 10 กิโลเมตร อยู่ติดริมถนนใหญ่ ภายในวัดมีโบราณวัตถุล้ำค่าที่น่าสนใจ ชมพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทยและภาษาบาลี คัมภีร์ใบลานที่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย

“วัดสูงเม่น” ถือว่าเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดแพร่มีอายุ ไม่น้อยกว่า 300 ปี ตามตำนานเล่าว่า วัดสูงเม่น หรือ ชื่อในคัมภีร์ธรรม ปรากฏชื่อวัดว่า “วัดสุ่งเม้นแก้วกว้าง” เคยมีพื้นที่กว้างขวาง และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ เจ้าเมือง เจ้าผู้ครองนคร เจ้าราชวงค์ต่าง ๆ ทั้งใน ล้านนา และ ล้านช้าง ต่างเคยมานมัสการคัมภีร์ธรรมพระไตรปิฎก ณ วัดสูงเม่น

วัดแห่งนี้ยังเคยเป็น ศูนย์กลางในการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา และเป็นแหล่งการศึกษาเล่าเรียนที่ยิ่งใหญ่ของล้านนา มีวิชาทั้งทางโลกและทางธรรม ครูบาทั้งหลาย ตลอดถึงบัณฑิต นักปราชญ์ ทั้งบรรพชิต และ คฤหัสถ์ในล้านนาหลายท่าน ในอดีตล้วนแล้วแต่เคยมาศึกษา และ จารอักขระธรรมพระไตรปิฏก ณ สถานที่แห่งนี้ เพราะมีเจ้าผู้ครองนครแพร่ และศรัทธาประชาชนให้การอุปถัมภ์อยู่โดยตลอด

และวัดสูงเม่นยังเป็นวัดที่เจ้าเมืองแพร่ เจ้าผู้ครองนคร เจ้าราชวงค์อาณาจักรล้านนา และ ล้านช้าง ต่างให้ความ เคารพนับถือ เป็นอย่างมาก เพราะเป็นแหล่งจัดเก็บคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ผ่านการทำสังคายนาเป็นจำนวนมาก จากพระมหาเถระผู้เป็นสัพพัญญูแตกฉานในพระไตรปิฏก และ วิปัสสนาญาณระดับขั้นสูง ซึ่งมหาเถระดังกล่าวคือ “ครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร” อดีตเจ้าอาวาสวัดสูงเม่น จนมีตำนานปรากฏ ในธรรมกล่าวว่า วัดสูงเม่น คือ “วัดก๊กวัดเก๊าวัดตุ๊เจ้ามหาเถร”

สถานที่สำคัญภายในวัดประกอบด้วยศาสนสถานหลายแห่ง ได้แก่ พระอุโบสถ อันเก่าแก่ศิลปะแบบล้านนา มีโครงสร้างเป็นแบบทรงล้านนาพื้นเมือง ส่วนลวดลายล้านนาพื้นเมืองผสมผสานศิลปะพม่า มีเสาจำนวน 16 ต้น ลงรักสีดำ เขียว วาดลวดลายเถาวัลย์สีทอง เสาแต่ละต้นมีลวดลายที่แตกต่างกัน เพดานงดงามด้วยลวดลายแบบพม่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบดินเผา หน้าบันสลักเป็นรูปนาศีเกี้ยวน่ามอง และมีพระประธานในพระอุโบสถ คือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สำหรับเจดีย์วัดสูงเม่น เป็นเจดีย์ทรงหกเหลี่ยมบรรจุพระบรมธาตุและสารีริกธาตุซึ่งครูบากัญจนอรัญญวาสีมหาเถร นำมาแต่ประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2383

ใกล้กับพระอุโบสถจะพบกับหอพระไตรปิฏกอักขระภาษาล้านนา ประดับด้วยปูนปั้นโดยรอบอย่างงดงาม สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่จัดเก็บคัมภีร์พระไตรปิฏกใบลานอักษรล้านนา สถานที่เวียนธรรม สถานที่เก็บคัมภีร์ใบลานที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานอัญเชิญ ด้านในมีตู้ธรรมลายทองที่วิจิตรสวยงาม ภาพวาดประวัติหลวงปู่ครูบากัญจนอรัญญวสี ห้องสมุดธรรมะ ห้องปฏิบัติธรรม เป็นต้น

สำหรับประเพณีสำคัญของวัดแห่งนี้คือ “ตากธรรม ตานข้าวใหม่ หิงไฟพระเจ้า” จัดขึ้นในเดือนมกราคม โดยตากธรรม คือการนำคัมภีร์ธรรมใบลาน ที่เก็บรักษาไว้ในหอไตร ออกมาตาแดดเพื่อไล่ความชื้น การตานข้าวใหม่ คือการทำบุญหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ด้วยข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ และการหิงไฟพระเจ้า เป็นความเชื่อที่มาจาก สภาพภูมิอากาศอันหนาวเย็นมากของภาคเหนือ จึงมีการหาไม้ฟืนมาจุดเผาผิงให้พระพุทธรูปคลายหนาว ซึ่งมีความเชื่อกันว่าหากใครได้กระทำเช่นนี้ก็นับว่าจะได้อานิสงส์ผลบุญแรงกล้า

หากใครมาเที่ยววัดสูงเม่นแล้ว จะต้องไม่พลาดมาไหว้หลวงพ่อครูบามหาเถรด้วย เพราะครูบามหาเถร ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของ วัดสูงเม่นมาตั้งแต่สมัย เจ้าหลวงอินทรวิชัยราชา เจ้าผู้ครองนครแพร่ในอดีต ถึงกับมีเจ้าเมืองในอดีตได้ยกย่องว่า “อยากฮ่ำเฮียนดี มีความรุ่งเรืองก้าวหน้า หื้อหมั่นไปไหว้สาคัมภีร์ธรรม และ ขอปอนครูบามหาเถรเจ้า ณ วัดสุ่งเม้น เมืองแป้” จากคำกล่าว ในอดีตที่เล่าสืบต่อกันมานี้ ปัจจุบันจึงมีผู้คนมากราบไหว้คัมภีร์ธรรม ขอพร และ ปิดทอง หลวงพ่อครูบามหาเถร ณ วัดสูงเม่น อย่างมิขาดสาย

นอกจากนี้ยังมีหอธัมม์คัมภีร์ใบลาน เป็นสถานที่จัดเก็บคัมภีร์ใบลานภูมิปัญญาพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก เป็นตึกชั้นเดียว พื้นเทคอนกรีต หลังคามุงด้วยกระเบื้องซีเมนต์ มีรางน้ำล้อมรอบเพื่อป้องกันมด ปลวก และแมลงต่างๆ ภายในบรรจุพระไตรปิฎกฉบับพื้นเมือง คัมภีร์ธรรม และวรรณกรรมล้านนาที่ครูบามหาเถรเจ้านำมาไว้ ถือว่าเป็นสถานที่เก็บรวบรวมวรรณกรรมภาษาล้านนามากที่สุดในประเทศไทย

หากใครมาท่องเที่ยวจ.แพร่ ก็อย่าลืมแวะมาไหว้ขอพรหลวงพ่อครูบามหาเถร ที่ “วัดสูงเม่น” ตำบลสูงเม่น เพื่อความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต และชมโบราณวัตถุล้ำค่า รวมถึงคัมภีร์ใบลานที่สมบูรณ์มากที่สุดในประเทศไทย

วัดสูงเม่น ตั้งอยู่ที่ ถนนยันตรกิจโกศล ตำบลสูงเม่น อำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่ เปิดบริการให้เข้าชมทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.

แหล่งที่มา : https://mgronline.com/travel/detail/9600000077798